วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

ขั้นตอนการปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์

             ปลูกมะนาวนอกฤดู


คุณสุธนได้อธิบายถึงขั้นตอนของการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะเริ่มต้นจากการจัดเรียงวงบ่อตามระยะปลูกที่ต้องการ โดยใช้ฝาวงบ่อรองไว้ที่ก้น เกษตรกรจะต้องสังเกตว่าวงบ่อกับฝาที่วางก้นบ่อนั้นจะต้องประกบสนิทกัน ถ้ามันมีรูหรือช่องว่างเวลาที่เกษตรกรรดน้ำไป นานวันจะพบปัญหาดินปลูกจะไหลออกมาตามช่องที่เปิดนั้น เมื่อพบว่าวงบ่อวางไม่สนิทจะต้องรีบแก้ไข โดยใช้ปูนซีเมนต์ผสมแต้มปิดรูหรือช่อง และเมื่อเห็นว่าดินปลูกที่อยู่ในวงบ่อเริ่มพร่องลงไปจะต้องเติมลงไปให้เต็มบ่อ



สูตรวัสดุปลูกของสวนเทียนสว่าง

เนื่องจากวิธีการนี้เป็นการปลูกมะนาวในพื้นที่จำกัด วัสดุปลูกจึงมีความสำคัญมากจะต้องมีการระบายน้ำที่ดี วัสดุปลูกสูตรของสวนเทียนสว่างจะใช้ดินร่วน 4 ส่วน ผสมกับชานอ้อย 2 ส่วน คลุกเคล้าวัสดุปลูกให้เข้ากันอาจจะปรับสภาพดินด้วยปูนโดโลไมต์โรยให้พอประมาณ หรืออาจจะใช้อัตราส่วนของดินร่วน 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 ส่วน หรือใช้อัตราส่วนดินร่วน 3 ส่วน ต่อปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกว่าจะหาวัสดุปลูกในท้องถิ่นได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดสภาพของวัสดุปลูกที่จะใส่ลงไปในบ่อซีเมนต์นั้นจะต้องเน้นในเรื่องของการระบายน้ำที่ดี



การปลูกมะนาวอกฤดูลงในบ่อซีเมนต์

คุณสุธนให้ขุดหลุมในวงบ่อให้มีขนาดใหญ่เท่ากับขนาดถุงชำพอดี นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกและกลบดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ปักค้ำผูกมัดต้นมะนาวให้แน่นเพื่อป้องกันการโยกจากลม หลังจากปลูกเสร็จให้นำวัสดุคลุมหน้าดิน เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า เปลือกถั่วหรือกาบมะพร้าว เพื่อจะช่วยเก็บรักษาความชื้น มีเกษตรกรบางรายอาจจะนำเอากิ่งตอนที่มีรากเดินดีแล้วมาปลูกเลย (ไม่ได้ชำในถุง) คุณสุธนแนะนำว่า ก่อนปลูกให้แกะพลาสติคหุ้มขุยมะพร้าวออก แผ่รากมะนาวออกไม่ให้ขดกันเป็นก้อน จะช่วยทำให้กิ่งมะนาวที่ปลูกลงไปตั้งตัวได้เร็วและรากเดินดี



เลี้ยงต้นมะนาวให้สมบูรณ์

มีอายุอย่างน้อย 8 เดือน

ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์นั้น นอกจากวัสดุปลูกมีความสำคัญแล้ว "น้ำ" เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณสุธนบอกว่า จะต้องมีการให้น้ำทุกวันอาจจะถึงวันละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง แต่จะให้น้ำวงบ่อละ 5-10 นาที เท่านั้น เนื่องจากการปลูกมะนาวในรูปแบบนี้ปลูกในบริเวณพื้นที่จำกัด ถ้าให้น้ำมากเกินไปจะเกิดปัญหา 2 อย่าง ตามมาก็คือ ดินที่ปลูกมักจะหลุดไหลออกมาตามน้ำได้ง่ายและอาจจะส่งผลต่อการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าตามมา



ปลูกมะนาวนอกฤดูยากจะหลีกเลี่ยง

การใช้สารปราบศัตรูพืช

โดยธรรมชาติของต้นมะนาวเองจัดเป็นพืชที่มีโรคและแมลงศัตรูระบาดทำลายมาก ทำให้ยากจะหลีกเลี่ยงต่อการใช้สารปราบศัตรูพืช แต่ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดี ในขณะนี้มีสารปราบศัตรูพืชหลายชนิดที่มีค่าความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากกว่าแต่ก่อน และอาจจะใช้เพียงชนิดเดียวสามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะนาวได้หลายชนิดไปพร้อมกัน อย่างกรณีของแมลงศัตรูที่สำคัญของมะนาวคือ หนอนชอนใบและเพลี้ยไฟ แนะนำให้มีการฉีดพ่นสารโปรวาโด โดยใช้อัตราเพียง 1-2 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) เท่านั้น ในการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืชให้กับต้นมะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ทุกครั้งควรจะเติมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา และฮอร์โมนพืชไปพร้อมกันเลย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา

สำหรับปุ๋ยเคมีที่จะใส่ให้ทางดินถ้าเป็นช่วงที่เริ่มปลูกมะนาวเพื่อเร่งการเจริญเติบโต คุณสุธนแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16, 19-19-19 ฯลฯ หรือใส่สลับกับปุ๋ยยูเรีย ใส่ให้ครั้งละ 1 ช้อนแกง ก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นช่วงสะสมอาหารหรือช่วงเตรียมอดน้ำก่อนหน้าจะออกดอก 1 เดือน คุณสุธนจะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตราต้นละ 1-2 ช้อนแกง แต่จะใส่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ขอขอบคุณ บทความดีๆมีประโยชน์จาก
 บทความโดย
เครือวัลย์ บุญเงิน

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคที่สำคัญของมะนาว


โรคที่สำคัญของมะนาว

    1. โรคแคงเกอร์
         ลักษณะอาการ
         จะเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วน ทั้งที่ใบ กิ่งก้าน และผล โดยอาการที่ใบและผล จะมีลักษณะคล้ายกัน คือจะเกิดเป็นแผลกลม แล้วจะขยายใหญ่ ฟู นูนคล้ายฟองน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม

     

         ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และจะแตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลือง ล้อมรอบแผล ส่วนอาการที่กิ่งก้าน จะมีแผลฟูนูนสีเหลือง ต่อมาแผลจะ แตกแห้ง เป็นสีน้ำตาลขยายไปรอบๆ กิ่ง รูปร่างธองแผลไม่แน่นอน และไม่มีวงแหวน ล้อมรอบ เมื่อต้นมะนาวเป็นโรคนี้มากๆ จะแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วง ผลผลิตลดลง กิ่งและต้นจะแห้งตายในที่สุด
         การป้องกันกำจัด
         ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคเผาทำลาย ไม่ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่เป็นโรคแคงเกอร์ พยายามอย่าให้มะนาวเกิดบาดแผล และ ป้องกันแมลงที่เป็นพาหะ เช่น หนอนชอนใบ หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมี กำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาริล มาลาไธออน

    2. โรคราดำ
         ลักษณะอาการ
         ใบ กิ่งก้าน และผลจะมีราสีดำ สกปรก กระด้าง ทำให้ผมไม่สวย ต้นมะนาวจะแคระแกร็น
         การป้องกันกำจัด
         ทำลายส่วนที่เป็นโรคโดยการเผาไฟหรือใช้ สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงประเภท ปากดูดชึ่งเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดโรคราดำ

     


    3. โรคกรีนนิ่ง (ใบแก้ว)
         ลักษณะอาการ
         ใบจะด่างเป็นสีเหลือง หรือขาวใสระหว่างเส้นใบ ใบมีขนาดเล็กลง ในที่สุดใบและยอดจะแห้งตาย ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อย ต้นจะโทรม
         การป้องกันกำจัด
         ทำลายส่วนที่เป็นโรคโดยการเผาไฟ ใส่ปุ๋ยที่มี ธาตุสังกะสีและ แมกนีเชียม ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินใหัอยู่ระหว่าง 6.0-6.5

     


    4. โรคยางไหล
         ลักษณะอาการ
         มีอาการยางไหลบริเวญลำต้นและกิ่งก้าน เปลือกจะเน่าและแผลจะลุกลามไปถึงเนื้อไม้
         การป้องกันกำจัด
         ควรตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชเพื่อให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง และควรทาบาดแผลด้วยสารทองแดงหรือกำมะถันผสมปูนขาว ถ้ามีการระบาดมากก็เผาทำลายเสีย

     


    5. โรครากเน่าและโคนเน่า
         ลักษณะอาการ
         รากฝอยและรากแขนง จะเน่ามีสีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะเหนียว ไม่ยุ่ย เปลือกของลำต้นจะปริแตกออก โดยเฉพาะ โคนต้น และมียางไหลบริเวณขอบแผล เมื่อรากและต้นถูกทำลายมากๆ จะทำให้ใบเหลือง และร่วงหล่น
         การป้องกันกำจัด
         อย่าให้มีน้ำขัง บริเวณโคนต้น และไม่ควรใส่ปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยคอกมากเกินในช่วงฤดูฝน

     


แมลงศัตรูที่สำคัญ

    1. หนอนชอนใบ
         ลักษณะอาการ
         จะทำความเสียหายให้กับมะนาวในระยะแตก ใบอ่อน โดยจะชอนไชกัดกินอยู่ระหว่างผิวใบด้านหน้าและหลังใบ จะมอง เห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา ใบหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ และใบไม่เจริญเติบโต ต้นมะนาวจะแคระแกร็นและไม่ติตผล

     

         การป้องกันกำจัด
         หมั่นตรวจดูตามใบและยอดของมะนาว โดยเฉพาะระยะที่มะนาวเริ่มผลิใบอ่อน กรณีที่ระบาดน้อยให้เด็ดใบเผาทำลาย หากพบมากใหัฉีดพ่น สารเคมีกำจัดแมลง กลุ่มคาร์บาริล มาลาไธออน หรือฟอร์โมไธออน ในอัตราที่ฉลากกำหนด

    2. หนอนกินใบ (หนอนแก้ว)
         ลักษณะอาการ
         กัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนของมะนาว
         การป้องกันกำจัด
         หมั่นตรวจตูตามใบอ่อนและยอดอ่อน เมื่อพบไข่และตัวหนอนก็จับทำลายเสีย ฉีดพ่นสารเคมีกำจัตแมลงกลุ่มเมทามิโดฟอสที่มีชื่อทางการค้าว่า ทามารอน ในอัตรา 20-30 ซีซี. หรือประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้น

     


    3. เพลื้ยไฟ
         ลักษณะอาการ
         จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อน นับแต่เริ่มติดผล ช่วงระยะการระบาด จะขี้นอยู่กับการแตกยอดอ่อน และระยะติดผล ผลที่ถูกทำลายจะ ปรากฎรอยสีเทา เป็นวงบริเวณขั้วผล และก้นผลหรือเป็นขีดสีเทาตาม ความยาวของผล
         การป้องกันกำจัด
         เด็ดผลที่แคระแกร็น ถ้าพบการทำลายของเพลี้ย ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง ได้แก่ คาร์โบชัลแฟน เปอร์เมทริน

    4. ไรแดง
         ลักษณะอาการ
         ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหงิกงอ ไม่เจริญเติบโตและร่วงหล่น ผลมะนาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในเวลาต่อมา ผิวผลจะกร้าน ผลแคระแกร็น และร่วงในที่สุด
         การป้องกันกำจัด
         ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงชนิดละลายน้ำในอัตรา 4 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 10-15 วัน ในตอนเช้า หรือตอนเย็น เพื่อป้องกันอาการใบไหม้

ขอขอบคุณ บทความดีๆมีประโยชน์จาก
 บทความโดย
เครือวัลย์ บุญเงิน

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร
     

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พันธุ์มะนาวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ


 มะนาวเป็นไม้ผลตระกูลส้มประเภทหนึ่ง ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย โดยแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และเชียงใหม่


     

          มะนาว จัดได้ว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่ง ที่ตลาดมีความต้องการสูง ตลอดทั้งปี และจากอัตราการเพิ่มของพลเมือง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้ม ค่อนข้างสูง รวมทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการนำมะนาวมาใช้เป็นวัตถุดิบ อีกมากมาย จึงทำให้มะนาวมีบทบาทสำคัญ ทางการค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน ของทุกปี มะนาวจะมีราคาสูงกว่าปกติ คือมีราคาลูกละ 3-4 บาท ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งจะมีผลผลิตมะนาวออกสู่ตลาดน้อย ดังนั้น จึงทำให้มีผู้สนใจหันมาปลูกมะนาวนอกฤดูกันมาก

พันธุ์

          ปลูกมะนาวนอกฤดู พันธุ์มะนาวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และปลูกกันในประเทศไทย ในปัจจุบัน ได้แก่

          1. มะนาวหนัง ผลอ่อน มีลักษณะกลมยาว หัวท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ ผลจะมีลักษณะกลม ค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้าง เล็กน้อย ด้านหัว มีจุกเล็ก ๆ มีเปลือกค่อนข้างหนา จึงทำให้ เก็บรักษาผลไว้ได้นาน

     

          2. มะนาวไข่ มีขนาดและลักษณะ คล้ายมะนาวหนังเกือบทุกอย่าง ผลอ่อนมีลักษณะ กลมยาวหัวท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ ผลจะมีลักษณะ กลมมนเป็นส่วนมาก เปลือกบาง ผลโตกว่า มะนาวหนัง

     

          3. มะนาวแป้น เป็นมะนาวที่สามารถ ให้ดอกออกผลตลอดปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แป็นรำไพ แป้นทราย เป็นต้น

     

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการ ปลูกมะนาวนอกฤดู

         มะนาวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิต ไม่ว่าจะเป็น ดินเหนียว ดินทราย แต่ถ้าต้องการจะปลูกมะนาว ให้เจริญงอกงามดี มี ผลดก และคุณภาพดี ก็ควรจะปลูกในพื้นท ี่ที่เป็นดินร่วนซุย มีการระบาย น้ำดี มีอินทรียวัตถุผสม อยู่มาก และควรเลือกพื้นที่ที่อยูใกล้แหล่งน้ำ

การเตรียมพื้นที่ปลูก

         1. พื้นที่ลุ่ม เตรียมพื้นที่โดยการทำคันดินใหัมีความกว้างประมาณ 6-8 เมตร ส่วนสูงให้สังเกตจากปริมาณน้ำที่เคยท่วมสูงโดยให้อยู่สูงกว่า แนวระดับน้ำท่วม 50 เซนติเมตร แทงร่องหรือซอยร่องทำประตูน้ำเพื่อ ระบายน้ำเข้าออก ขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร พื้นที่ร่องกว้าง 0.5-0.7 เมตร ใช้ระยะปลูก 5X5 เมตร
    2. พื้นที่ดอน ควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินร่วนซุย ใช้ระยะปลูก 4 x 4 - 6 x 6 เมตร ทั้งนี้ขื้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

วิธีการปลูก

         ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ควรขุดหลุมปลูก ให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตเข้าด้วยกัน ในหลุมให้ สูงประมาญ 2 ใน 3 ของหลุม ยกถุงกล้า ต้นไม้วางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่า ระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดที่คม กรีดถุง จากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ช้ายและขวา)

     

         ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงในหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมพัดโยก หาวัสถุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง รดน้ำให้โชก ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด

การปฏิบัติดูแลรักษา

    1. การให้น้ำ
         ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ในช่วง ที่ปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำวันละครั้งเป็นอย่างน้อย (กรณีฝนไม่ตก) หลังจากปลูกประมาณ 15 วัน มะนาวสามารถตั้งตัวได้แล้ว ให้น้ำเดือนละ 2-3 ครั้ง และควรหา วัสดุมาคลุมดินบริเวณโคนต้น เพื่อช่วยรักษาความชื้น

     

         ควรเริ่มงดให้น้ำ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เป็นต้นไป จนถึงช่วงออกดอก เพื่อให้มะนาวสะสม อาหารให้สูงถึงระดับที่สามารถสร้างตาดอกได้ ปกติมะนาวจะออกดอก เดือนเมษายน-พฤษภาคม หลังจากมะนาวออกดอก และกำลังติดผลอ่อน เป็นช่วงที่มะนาวต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ของผล

    2. การใส่ปุ๋ย
         2.1 หลังจากมะนาวอายุได้ 3-4 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ประมาณต้นละ 0.5 กิโลกรัม กรณีใส่ปุ๋ยเคมีควรใส่หลังจาก พรวนดิน กำจัดวัชพืชแล้ว โดยใส่บริเวญรอบทรงพุ่ม แล้วก็ให้น้ำ ตามเพื่อ ให้ปุ๋ยละลาย

     

         2.2 เมื่อมะนาวอายุ 1 ปี ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ ต้นละ 300 กรัม และเมื่อมะนาวอายุ 2 ปี ก็เพิ่มปริมาญปุ๋ยโดยใส่ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละประมาณ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ขี้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ ของตน และเมื่อมะนาว อายุย่างเข้าปีที่ 3 ก็จะเริ่มให้ผลผลิต
         2.3 ช่วงระยะก่อนออกดอกประมาณ 1-2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น สูตร 12-24-12 หรืออาจใช้ปุ๋ยสูตร 3-10-10 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะที่ยังไม่ออกดอก และใช้สูตร 0-52-34 ในระยะเร่งการออกดอก ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ปริมาณที่ใช้ ขึ้นอยู่กับอายุของต้นพืช โดยใส่ในปริมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้น

    3. การกำจัดวัชพืช
         การกำจัดวัชพืชในสวนมะนาวสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ถอน ถาง หรือใช้เครื่องตัดหญ้าแต่ต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลตามโคนต้น หรือกระทบกระเทือนราก วิธีกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือการใช้สารเคมี เช่น พาราชวิท ไกลโฟเสท ดาวพอน เป็นตัน โดยการใช้จะต้องระวัง อย่าให้สารพวกนี้ปลิวไปถูกใบมะนาวเพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่นทำให้ ใบไหม้เหลืองเป็นจุดๆ หรือไหม้ทั้งใบ ดังนั้นจึงควรฉีดพ่นตอนลมสงบ

    4. การค้ำกิ่ง
         เมื่อมะนาวใกล้จะผลิดอกออกผล ต้องมีการค้ำกิ่งให้กับต้นมะนาวด้วย เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักหรือฉีกขาดโดยเฉพาะในช่วงติดผล และยังช่วยลดความเสียหาย เนื่องจากโรคและแมลงได้ โดยวิธีการค้ำกิ่ง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
              1. การค้ำกิ่งโดยการใช้ไม้รวกหรือไม์ไผ่ทำเป็นง่าม สอดเขัากับกิ่งมะนาว ให้ปลายอีกข้างหนึ่งวางตั้งรับน้ำหนักของกิ่งอยู่บนพื้นดิน แล้วใช้เชือกผูกมัดกิ่งไว้
              2. การค้ำกิ่งแบบคอกหรือนั่งร้าน โดยเอาไม้มาทำเป็นนั่งร้านรูปสี่เหลี่ยนรอบๆ ต้นมะนาวเพื่อรองรับกิ่งใหญ่ ๆ ของมะนาวไว้ อาจทำเป็น 2-3 ชั้น แล้วให้กิ่งพาดอยู่ที่ชั้นใดก็ได้ ซึ่งวิธีนื้จะมั่นคงทนทาน และใชัประโยชน์ได้ดีกว่าวิธีแรก

    5. การตัดแต่งกิ่ง
         เพื่อให้มะนาวมีทรงพุ่มสวยและให้ผลดกปราศจากการทำลายของโรคและแมลง การตัดแต่งกิ่งควรทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยตัดกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกให้หมด แล้วนำไปเผาทำลาย อย่าปล่อยทิ้งไว้ตามโคนต้น เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรคได้

ขอขอบคุณ บทความดีๆมีประโยชน์จาก
 บทความโดย
เครือวัลย์ บุญเงิน

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปลูกมะนาว ใครว่ายาก ทำออกนอกฤดูได้ รวยอย่างเดียว

ปลูกมะนาว ใครว่ายาก ทำออกนอกฤดูได้ รวยอย่างเดียว 




พูดถึงอาชีพเกษตรกรรมมีอยู่มากมายหลายอย่าง เกษตรกรมักจะเลือกประเภทตามที่ตัวเองถนัด หรือพื้นฐานทางครอบครัวอยู่แล้ว หรือตามสภาพดินฟ้าอากาศ กระทั่งการคำนึงถึงการซื้อการขาย

หลายครอบครัวในเขตพื้นที่ ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เคยดำรงเลี้ยงชีพด้วยการทำนา แต่ด้วยราคาข้าว ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างแรงงานที่แบกรับไม่ไหว เกษตรกรหลายคนหันไปตามการเกษตรอย่างอื่นกันเป็นทิวแถว

เริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ ขุดพื้นที่นาเป็นร่องสวน แล้วปลูกไม้ผล อาทิ มะพร้าวน้ำหอม ขนุน มะม่วง ชมพู่ ฯลฯ แต่เมื่อปลูกกันมากๆ เข้า ราคาก็ตก หันไปปลูกอย่างอื่นอีก เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้

คุณณรงค์ รุ่มนุ่ม วัย 45 ปี บ้านอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์แห่งนี้ ครั้งหนึ่ง เคยทำนาเป็นอาชีพหลัก เฉกเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษสืบต่อกันมา แต่ด้วยภาวะปัจจัยหลายประการทำให้เขามองเห็นว่า การทำนาบัวน่าจะมีรายได้ตอบแทนที่ดีกว่า จึงปรับสภาพจากนาข้าว เป็นนาบัวบูชาพระ เมื่อสักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะว่าไปแล้วการทำนาบัวนั้น นับเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง ด้วยว่า สามารถตัดดอกขายได้วันเว้นวัน เกษตรกรที่ปลูกนาบัวต่างทราบถึงข้อนี้ดี ยิ่งไปกว่านั้น หากอยู่ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งต่อปี มีอยู่หลายวัน ในช่วงนั้นๆ บัวบูชาพระก็จะขายได้ราคาดีเป็นพิเศษทีเดียว

นาบัวพันธุ์ฉัตรขาว มีอยู่หลายจุดในเขตตำบลมหาสวัสดิ์ บางจุดยังทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดเป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจนติดลมบนไปแล้ว

แต่สำหรับคุณณรงค์แล้ว แม้ว่าการปลูกบัวบูชาพระจะทำรายได้ค่อนข้างดี แต่ในทัศนะของเขานั้น การทำนาบัวต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเกือบทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ดังนั้น เขาจึงพยายามหาการเกษตรอย่างอื่นเพื่อทดแทนการทำนาบัว

"ทำนาบัว รายได้ดี แต่ต้องแช่น้ำทั้งวัน เป็นงานที่หนัก หากเราแก่ตัวไป จะลำบาก" คุณณรงค์ว่า อย่างนั้น

แต่ก็ใช่ว่าจะเลิกการทำนาบัวเสียทีเดียว เขาปรับพื้นที่นาบัวเป็นบางส่วนเท่านั้น หันมาทำการเกษตรกรรมอย่างอื่น ที่เขาว่าสบายกว่านาบัว แต่รายได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน



เกษตรกรรมอย่างอื่นที่เขาว่า ก็คือ สวนมะนาว

ทำไมเขาจึงมาเลือกทำสวนมะนาว ทั้งที่ได้ยินข่าวเสมอว่ามะนาวราคาถูก ขายกันเป็นร้อยเป็นพันลูกราคาไม่กี่บาท

ทว่า ในขณะที่ได้ยินข่าวว่า มะนาวถูกแสนถูกนั้น ในอีกช่วงเวลาหนึ่งก็จะได้ยินว่า มะนาวราคาแพงแสนแพง ราคาลูกละ 7-8 บาท ซึ่งในช่วงนี้ ใครปลูกมะนาวได้ผล ก็แทบจะเรียกได้ว่า ทำเหมืองทองเลยทีเดียว

"ไม่กลัว มะนาวราคาถูกหรือ" ถามคุณณรงค์ไปอย่างนั้น

"ไม่กลัว เพราะถึงมะนาวจะราคาถูก ก็อยู่ประมาณ ลูกละ 50 สตางค์ ไม่มีถูกไปกว่านี้แล้ว ส่วนช่วงแพง ได้ลูกละ 3 บาท ถึง 3.50 บาท"

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้เขาไม่กลัวก็คือว่า เขามีวิธีการจัดการสวนมะนาวให้ออกนอกฤดู คือในช่วงแพงได้ และเป็นช่วงที่ทำเงินได้มาก

เขาทำได้อย่างไร

เริ่มต้น ต้องรู้ธรรมชาติของมะนาวก่อนว่า จะให้ผลผลิตตามฤดูกาลหรือเรียกว่า "มะนาวปี" คือในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป คือช่วงฝน แต่พอเข้าหนาว ต่อร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ช่วงนี้ล่ะที่มะนาวแพง หรือเป็นมะนาวนอกฤดู

ดังนั้น ในช่วงที่มะนาวออกดอกตามฤดูกาล หรือมะนาวปี เขาฉีดฮอร์โมนให้ดอกร่วงหมด โดยผสมฮอร์โมนแรงกว่าปกติเป็น 10 เท่า จากนั้นตัดแต่งกิ่ง โดยให้เหตุผลว่า ให้มะนาวออกมาในช่วงนี้ ก็มีราคาถูก แต่ถ้าบำรุงต้นไว้ให้ออกนอกฤดู จะได้ราคาดีกว่า หรือหากจะให้ออกทั้งนอก ทั้งในฤดู จะทำให้ต้นโทรม

เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว ต้องบำรุงทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์ จากนั้นมะนาวจะเริ่มติดดอกในราวๆ เดือนตุลาคม แล้วไปเก็บผลผลิตได้ในช่วงมะนาวแพง อย่างที่ว่า



ปุ๋ยที่ใช้บำรุงต้น มีทั้งสูตรเสมอคือ 16-16-16 และปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ และหากมีโรคแมลงก็ใช้สารเคมี แต่ที่สวนแห่งนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจาก หนึ่ง เป็นสวนใหม่ ยังไม่มีโรคแมลงสะสม สอง เป็นสวนมะนาวเพียงสวนเดียวในย่านนี้ สวนใกล้เคียงยังไม่มีใครปลูกมะนาว หากเป็นสวนมะม่วง ขนุน หรือนาบัว นาข้าว เพราะถ้ามีสวนไม้ผลชนิดเดียวกัน อยู่ติดๆ กัน ก็มีโอกาสที่จะมีโรคแพร่ระบาดได้ง่าย หรือเป็นแหล่งอาหารที่ดีของโรคแมลงได้มาก

ที่สวนของคุณณรงค์ มีพื้นที่ราวๆ 8 ไร่ ปลูกมะนาวไว้ 300 กว่าต้น โดยปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 4 เมตร หน้าร่องสวนกว้าง 5 เมตร ปลูกแถวเดียว โดยมีกล้วยหอมแซมระหว่างต้นช่วงคันสวน

"คิดแล้ว ดูแลรักษาไม่ยาก แต่ต้องละเอียด หมั่นดูแลทุกๆ วัน อย่าให้ใบเหลือง" คุณณรงค์ พูดให้ฟัง

นอกจากนี้ ที่สวนของคุณณรงค์ ยังได้เปรียบอีกอย่างคือ มีน้ำใช้สำหรับในร่องสวนตลอดทั้งปี ด้วยผันเข้ามาจากคลองมหาสวัสดิ์ คลองเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับทางด้านการขายแล้ว คุณณรงค์ บอกว่า คุณกัลยา ภรรยาของเขา รับผิดชอบหน้าที่นี้

คุณกัลยา เล่าว่า เธอไปตระเวนหาร้านที่จะรับซื้อผลผลิตของเธอก่อน ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่า มีที่ขายแน่ๆ จึงลงมือปลูก

แนวคิดอย่างนี้น่าสนใจมากทีเดียว เพราะมีการเกษตรจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการผลิต แต่เมื่อผลิตออกมาแล้ว กลับล้นตลาด เพราะไม่มีผู้รับซื้อ ไม่มีคนซื้อ หรือปลูกแล้วขายไม่ได้ หากเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะผลิตขึ้นมา

แต่ถ้าได้สำรวจตลาดไว้ก่อนว่า ถ้าปลูกแล้วจะขายให้ใคร ขายที่ไหน หรืออย่างน้อยต้องพอมองลู่ทางไว้ว่า ผลผลิตที่จะออกดอกออกผลมานี้ เป็นที่นิยมของตลาดมากน้อยแค่ไหน มีผู้ปลูกอยู่มากรายหรือไม่ ผลผลิตที่จะออกมาประเดประดังกันหรือไม่ อย่างไร

"ก่อนจะปลูกต้องหาตลาดก่อน ไปหาแม่ค้าที่พอรู้จักกันที่ปากคลองตลาด บอกว่า ถ้ามีมะนาวจะเอามาส่งนะ แม่ค้าเค้าก็ตกลง รับของเราตลอด ถูก แพงอย่างไรก็รับ แม่ค้าบางคนมารับซื้อที่สวนแต่ยังไม่ตีราคาผลผลิต จนกว่าเค้าเอาไปขายที่ตลาด ขายได้เท่าไหร่ ค่อยมาตีราคาให้เรา คือเค้าได้กำไรแน่ๆ ไม่มีขาดทุน" คุณกัลยา ว่าอย่างนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรบางคนยังต้องพบกับภาวะ "เป็นรอง" พ่อค้าแม่ค้า ที่จะใช้วิธีรับของไปก่อน แล้วมาตีราคาให้ หลังจากนำไปส่งยังตลาดค้าส่งแล้ว นั่นหมายความว่า ความเสี่ยงของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เป็นศูนย์ ไม่มีทางขาดทุน แต่ผู้ที่เสียเปรียบคือเกษตรกร ที่ต้องยอมขายให้ไม่ว่าราคาจะเป็นอย่างไร

คุณณรงค์ เล่าให้ฟังอีกว่า ก่อนที่จะมาปลูกมะนาวนี้ เขาคิดว่าจะปลูกไม้ใบด้วยซ้ำ เพราะน่าจะราคาดีกว่าทำนาบัว และมีจุดจำหน่ายอยู่ที่ปากคลองตลาด แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว ก็พบว่า การปลูกไม้ใบต้องตัดบ่อย อย่างน้อยวันเว้นวัน ถ้าไม่ตัดใบก็จะโทรมไป อาจจะเป็นงานหนักและเหนื่อยเกินไป แต่สำหรับมะนาว หากช่วงไหนไม่มีเวลาตัดก็ปล่อยทิ้งไว้ได้ ผลมะนาวก็โตขึ้น และแก่ขึ้นเรื่อยๆ

ที่ว่าไม่มีเวลานี้ เพราะคุณณรงค์ และคุณกัลยา ก็ยังไม่ทิ้งนาบัวเสียทีเดียว เขาทั้งคู่ยังมีนาบัวอีกกว่า 8 ไร่ อยู่อีก 1 แปลง เพราะถึงอย่างไร ก็ยังเป็นพืชที่ทำเงินได้ดี

แต่สำหรับมะนาวแล้ว ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในเวลานี้ หากยังเป็นพืชที่เจ้าของสวนรายนี้ หวังว่าเป็นพืชที่จะเลี้ยงตัวได้ในยามที่กำลังวังชาถดถอยลงในบั้นปลาย

มะนาวได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชปราบเซียน แม้จะปราบเซียนอย่างไร ยังไม่อาจพ้นความมานะพยายามของเกษตรกรไปได้ และต้องเป็นความมานะพยายามที่เป็นไปได้ และอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน

ใครที่สนใจ เรื่องราวของสวนมะนาว ติดต่อได้ที่ โทร. (09) 986-4634

ขอขอบคุณ บทความดีๆมีประโยชน์จาก
 บทความโดย
เครือวัลย์ บุญเงิน

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร