วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปลูกมะนาว ใครว่ายาก ทำออกนอกฤดูได้ รวยอย่างเดียว

ปลูกมะนาว ใครว่ายาก ทำออกนอกฤดูได้ รวยอย่างเดียว 




พูดถึงอาชีพเกษตรกรรมมีอยู่มากมายหลายอย่าง เกษตรกรมักจะเลือกประเภทตามที่ตัวเองถนัด หรือพื้นฐานทางครอบครัวอยู่แล้ว หรือตามสภาพดินฟ้าอากาศ กระทั่งการคำนึงถึงการซื้อการขาย

หลายครอบครัวในเขตพื้นที่ ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เคยดำรงเลี้ยงชีพด้วยการทำนา แต่ด้วยราคาข้าว ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างแรงงานที่แบกรับไม่ไหว เกษตรกรหลายคนหันไปตามการเกษตรอย่างอื่นกันเป็นทิวแถว

เริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ ขุดพื้นที่นาเป็นร่องสวน แล้วปลูกไม้ผล อาทิ มะพร้าวน้ำหอม ขนุน มะม่วง ชมพู่ ฯลฯ แต่เมื่อปลูกกันมากๆ เข้า ราคาก็ตก หันไปปลูกอย่างอื่นอีก เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้

คุณณรงค์ รุ่มนุ่ม วัย 45 ปี บ้านอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์แห่งนี้ ครั้งหนึ่ง เคยทำนาเป็นอาชีพหลัก เฉกเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษสืบต่อกันมา แต่ด้วยภาวะปัจจัยหลายประการทำให้เขามองเห็นว่า การทำนาบัวน่าจะมีรายได้ตอบแทนที่ดีกว่า จึงปรับสภาพจากนาข้าว เป็นนาบัวบูชาพระ เมื่อสักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะว่าไปแล้วการทำนาบัวนั้น นับเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง ด้วยว่า สามารถตัดดอกขายได้วันเว้นวัน เกษตรกรที่ปลูกนาบัวต่างทราบถึงข้อนี้ดี ยิ่งไปกว่านั้น หากอยู่ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งต่อปี มีอยู่หลายวัน ในช่วงนั้นๆ บัวบูชาพระก็จะขายได้ราคาดีเป็นพิเศษทีเดียว

นาบัวพันธุ์ฉัตรขาว มีอยู่หลายจุดในเขตตำบลมหาสวัสดิ์ บางจุดยังทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดเป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจนติดลมบนไปแล้ว

แต่สำหรับคุณณรงค์แล้ว แม้ว่าการปลูกบัวบูชาพระจะทำรายได้ค่อนข้างดี แต่ในทัศนะของเขานั้น การทำนาบัวต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเกือบทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ดังนั้น เขาจึงพยายามหาการเกษตรอย่างอื่นเพื่อทดแทนการทำนาบัว

"ทำนาบัว รายได้ดี แต่ต้องแช่น้ำทั้งวัน เป็นงานที่หนัก หากเราแก่ตัวไป จะลำบาก" คุณณรงค์ว่า อย่างนั้น

แต่ก็ใช่ว่าจะเลิกการทำนาบัวเสียทีเดียว เขาปรับพื้นที่นาบัวเป็นบางส่วนเท่านั้น หันมาทำการเกษตรกรรมอย่างอื่น ที่เขาว่าสบายกว่านาบัว แต่รายได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน



เกษตรกรรมอย่างอื่นที่เขาว่า ก็คือ สวนมะนาว

ทำไมเขาจึงมาเลือกทำสวนมะนาว ทั้งที่ได้ยินข่าวเสมอว่ามะนาวราคาถูก ขายกันเป็นร้อยเป็นพันลูกราคาไม่กี่บาท

ทว่า ในขณะที่ได้ยินข่าวว่า มะนาวถูกแสนถูกนั้น ในอีกช่วงเวลาหนึ่งก็จะได้ยินว่า มะนาวราคาแพงแสนแพง ราคาลูกละ 7-8 บาท ซึ่งในช่วงนี้ ใครปลูกมะนาวได้ผล ก็แทบจะเรียกได้ว่า ทำเหมืองทองเลยทีเดียว

"ไม่กลัว มะนาวราคาถูกหรือ" ถามคุณณรงค์ไปอย่างนั้น

"ไม่กลัว เพราะถึงมะนาวจะราคาถูก ก็อยู่ประมาณ ลูกละ 50 สตางค์ ไม่มีถูกไปกว่านี้แล้ว ส่วนช่วงแพง ได้ลูกละ 3 บาท ถึง 3.50 บาท"

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้เขาไม่กลัวก็คือว่า เขามีวิธีการจัดการสวนมะนาวให้ออกนอกฤดู คือในช่วงแพงได้ และเป็นช่วงที่ทำเงินได้มาก

เขาทำได้อย่างไร

เริ่มต้น ต้องรู้ธรรมชาติของมะนาวก่อนว่า จะให้ผลผลิตตามฤดูกาลหรือเรียกว่า "มะนาวปี" คือในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป คือช่วงฝน แต่พอเข้าหนาว ต่อร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ช่วงนี้ล่ะที่มะนาวแพง หรือเป็นมะนาวนอกฤดู

ดังนั้น ในช่วงที่มะนาวออกดอกตามฤดูกาล หรือมะนาวปี เขาฉีดฮอร์โมนให้ดอกร่วงหมด โดยผสมฮอร์โมนแรงกว่าปกติเป็น 10 เท่า จากนั้นตัดแต่งกิ่ง โดยให้เหตุผลว่า ให้มะนาวออกมาในช่วงนี้ ก็มีราคาถูก แต่ถ้าบำรุงต้นไว้ให้ออกนอกฤดู จะได้ราคาดีกว่า หรือหากจะให้ออกทั้งนอก ทั้งในฤดู จะทำให้ต้นโทรม

เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว ต้องบำรุงทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์ จากนั้นมะนาวจะเริ่มติดดอกในราวๆ เดือนตุลาคม แล้วไปเก็บผลผลิตได้ในช่วงมะนาวแพง อย่างที่ว่า



ปุ๋ยที่ใช้บำรุงต้น มีทั้งสูตรเสมอคือ 16-16-16 และปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ และหากมีโรคแมลงก็ใช้สารเคมี แต่ที่สวนแห่งนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจาก หนึ่ง เป็นสวนใหม่ ยังไม่มีโรคแมลงสะสม สอง เป็นสวนมะนาวเพียงสวนเดียวในย่านนี้ สวนใกล้เคียงยังไม่มีใครปลูกมะนาว หากเป็นสวนมะม่วง ขนุน หรือนาบัว นาข้าว เพราะถ้ามีสวนไม้ผลชนิดเดียวกัน อยู่ติดๆ กัน ก็มีโอกาสที่จะมีโรคแพร่ระบาดได้ง่าย หรือเป็นแหล่งอาหารที่ดีของโรคแมลงได้มาก

ที่สวนของคุณณรงค์ มีพื้นที่ราวๆ 8 ไร่ ปลูกมะนาวไว้ 300 กว่าต้น โดยปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 4 เมตร หน้าร่องสวนกว้าง 5 เมตร ปลูกแถวเดียว โดยมีกล้วยหอมแซมระหว่างต้นช่วงคันสวน

"คิดแล้ว ดูแลรักษาไม่ยาก แต่ต้องละเอียด หมั่นดูแลทุกๆ วัน อย่าให้ใบเหลือง" คุณณรงค์ พูดให้ฟัง

นอกจากนี้ ที่สวนของคุณณรงค์ ยังได้เปรียบอีกอย่างคือ มีน้ำใช้สำหรับในร่องสวนตลอดทั้งปี ด้วยผันเข้ามาจากคลองมหาสวัสดิ์ คลองเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับทางด้านการขายแล้ว คุณณรงค์ บอกว่า คุณกัลยา ภรรยาของเขา รับผิดชอบหน้าที่นี้

คุณกัลยา เล่าว่า เธอไปตระเวนหาร้านที่จะรับซื้อผลผลิตของเธอก่อน ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่า มีที่ขายแน่ๆ จึงลงมือปลูก

แนวคิดอย่างนี้น่าสนใจมากทีเดียว เพราะมีการเกษตรจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการผลิต แต่เมื่อผลิตออกมาแล้ว กลับล้นตลาด เพราะไม่มีผู้รับซื้อ ไม่มีคนซื้อ หรือปลูกแล้วขายไม่ได้ หากเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะผลิตขึ้นมา

แต่ถ้าได้สำรวจตลาดไว้ก่อนว่า ถ้าปลูกแล้วจะขายให้ใคร ขายที่ไหน หรืออย่างน้อยต้องพอมองลู่ทางไว้ว่า ผลผลิตที่จะออกดอกออกผลมานี้ เป็นที่นิยมของตลาดมากน้อยแค่ไหน มีผู้ปลูกอยู่มากรายหรือไม่ ผลผลิตที่จะออกมาประเดประดังกันหรือไม่ อย่างไร

"ก่อนจะปลูกต้องหาตลาดก่อน ไปหาแม่ค้าที่พอรู้จักกันที่ปากคลองตลาด บอกว่า ถ้ามีมะนาวจะเอามาส่งนะ แม่ค้าเค้าก็ตกลง รับของเราตลอด ถูก แพงอย่างไรก็รับ แม่ค้าบางคนมารับซื้อที่สวนแต่ยังไม่ตีราคาผลผลิต จนกว่าเค้าเอาไปขายที่ตลาด ขายได้เท่าไหร่ ค่อยมาตีราคาให้เรา คือเค้าได้กำไรแน่ๆ ไม่มีขาดทุน" คุณกัลยา ว่าอย่างนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรบางคนยังต้องพบกับภาวะ "เป็นรอง" พ่อค้าแม่ค้า ที่จะใช้วิธีรับของไปก่อน แล้วมาตีราคาให้ หลังจากนำไปส่งยังตลาดค้าส่งแล้ว นั่นหมายความว่า ความเสี่ยงของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เป็นศูนย์ ไม่มีทางขาดทุน แต่ผู้ที่เสียเปรียบคือเกษตรกร ที่ต้องยอมขายให้ไม่ว่าราคาจะเป็นอย่างไร

คุณณรงค์ เล่าให้ฟังอีกว่า ก่อนที่จะมาปลูกมะนาวนี้ เขาคิดว่าจะปลูกไม้ใบด้วยซ้ำ เพราะน่าจะราคาดีกว่าทำนาบัว และมีจุดจำหน่ายอยู่ที่ปากคลองตลาด แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว ก็พบว่า การปลูกไม้ใบต้องตัดบ่อย อย่างน้อยวันเว้นวัน ถ้าไม่ตัดใบก็จะโทรมไป อาจจะเป็นงานหนักและเหนื่อยเกินไป แต่สำหรับมะนาว หากช่วงไหนไม่มีเวลาตัดก็ปล่อยทิ้งไว้ได้ ผลมะนาวก็โตขึ้น และแก่ขึ้นเรื่อยๆ

ที่ว่าไม่มีเวลานี้ เพราะคุณณรงค์ และคุณกัลยา ก็ยังไม่ทิ้งนาบัวเสียทีเดียว เขาทั้งคู่ยังมีนาบัวอีกกว่า 8 ไร่ อยู่อีก 1 แปลง เพราะถึงอย่างไร ก็ยังเป็นพืชที่ทำเงินได้ดี

แต่สำหรับมะนาวแล้ว ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในเวลานี้ หากยังเป็นพืชที่เจ้าของสวนรายนี้ หวังว่าเป็นพืชที่จะเลี้ยงตัวได้ในยามที่กำลังวังชาถดถอยลงในบั้นปลาย

มะนาวได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชปราบเซียน แม้จะปราบเซียนอย่างไร ยังไม่อาจพ้นความมานะพยายามของเกษตรกรไปได้ และต้องเป็นความมานะพยายามที่เป็นไปได้ และอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน

ใครที่สนใจ เรื่องราวของสวนมะนาว ติดต่อได้ที่ โทร. (09) 986-4634

ขอขอบคุณ บทความดีๆมีประโยชน์จาก
 บทความโดย
เครือวัลย์ บุญเงิน

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น